ภาษาจีนเรียนยากจริงไหม?

เลิร์นนิ่งอีสท์เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินกิตติศัพท์ความยากของภาษาจีนกลางกันมาแล้ว และเสียงเล่าลือเหล่านี้เป็นกับดับสำคัญที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย "ถอดใจ" ไปตั้งแต่ก่อนจะได้เริ่มเรียนภาษาจีนจริงๆซะอีก ในบทความนี้เราเลยอยากพูดถึง 3 ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนภาษาจีนกลางที่มักพูดถึงกันบ่อย มาดูกันซิว่าความเป็นจริงจะชวนให้ท้อแท้ใจแบบที่เค้าร่ำลือกันหรือเปล่า?

 


 

ความเชื่อข้อที่ 1

"เริ่มเรียนภาษาจีนตอนโต...ยังไงก็ไม่เวิร์ค!!"

 

ด้วยกลไกของร่างกายที่ออกแบบให้เด็กๆเรียนรู้ภาษาแม่ตั้งแต่วัยทารกทำให้เด็กๆซึมซับภาษา แยกแยะเสียง และเลียนแบบการออกเสียงได้ดีกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว 

แต่การเริ่มเรียนภาษาตอนโตก็มีข้อดีเช่นกัน เพราะผู้ใหญ่มีสมาธิในการเรียนนานกว่าและมีความมุ่งมั่นพยายามในการทำสิ่งยากๆ เช่น การเขียนตัวอักษรจีนได้ดีกว่าเด็กๆ อีกทั้งผู้ใหญ่ยังสามารถทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางภาษา เช่น หลักพินอินและหลักไวยากรณ์ได้ดีกว่า นอกจากนั้น ผู้ใหญ่ยังสามารถนำความรู้ที่มีติดตัวมาใช้ประมวลผลข้อมูลการเรียนรู้ใหม่ๆ ทำให้สามารถทำความเข้าใจคำศัพท์ที่มีความซับซ้อนได้ดีกว่าอีกด้วย 

สำหรับ "ความยาก" ในการเรียนภาษาของผู้ใหญ่นั้น เลิร์นนิ่งอีสท์มองว่ามาจากปัจจัยภายนอกอย่างภารกิจเรื่องงานหรือครอบครัวมากกว่า เพราะผู้ใหญ่ไม่เหมือนกับเด็กที่สามารถโฟกัสแค่เรื่องเรียนอย่างเดียวได้ แต่หากผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่สามารถจัดสรรเวลาเรียนได้ลงตัวและทุ่มเทกับมันได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเริ่มเรียนภาษาจีนกลางหรือภาษาไหนๆก็เชื่อว่าราบรื่นแน่นอนค่ะ 

 


 

ความเชื่อข้อที่ 2

"ตัวอักษรจีนมีเยอะ...จำยังไงก็ไม่หมด!!"

 

ความจริงที่ว่าตัวอักษรจีนมีมากกว่า 50,000 ตัว (บางตำราว่ามีมากกว่า 80,000 ตัว) ทำให้คนไทยอย่างเราๆที่มีพยัญชนะ 44 รูป สระ 21 รูป ขนลุกไม่น้อย...

แต่ในความเป็นจริงแค่เรารู้จักตัวอักษรจีน 900 ตัวก็จะสามารถอ่านเนื้อหาในหนังสือพิมพ์จีนได้ถึง 90% และในการสอบวัดความรู้ภาษาจีน HSK ระดับ 6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ก็ต้องรู้จักตัวอักษรเพียง 2,663 ตัวเท่านั้น และการรู้จักตัวอักษร 2,663 ตัวนี้ จะทำให้สามารถอ่านสื่อสิ่งพิมพ์หรือภาษาเขียนใดๆก็ตามที่เป็นของยุคปัจจุบันได้ถึง 98% 

นอกจากนั้นแล้วตัวอักษรจีนยังมีที่มาจากอักษรภาพ ซึ่งเป็นจุดสังเกตที่ช่วยให้ผู้เรียนจดจำและเดาความหมายของคำศัพท์ที่ไม่เคยเจอได้ง่ายขึ้น เช่น ศัพท์ตระกูล 口 (สังเกตว่าคล้ายรูปปาก) จะมีความหมายเกี่ยวกับปาก

เช่น

- 吃 (chī) กิน

- 喝 (hē) ดื่ม

- 叫 (jiào) เรียก

ส่วนเรื่องการเขียนตัวอักษรจีนที่ทำให้คนไทยหลายคนกังวลเพราะเห็นเส้นพันกันยุ่งเหยิงก็มีหลักการเขียนง่ายๆอย่าง "เริ่มจากบนลงล่าง - ขีดขวางก่อนขีดตั้ง - เริ่มจากซ้ายไปขวา หรือถ้ามีตรงกลางให้เริ่มตรงกลางก่อน - เริ่มจากด้านนอกก่อนด้านใน" เมื่อผู้เรียนค่อยๆฝึกฝนทักษะเหล่านี้ก็จะพบว่าภาษาจีนไม่ได้ยากและไม่ต้องใช้ความจำมากอย่างที่คิดค่ะ 

 


 

ความเชื่อข้อที่ 3

"ภาษาจีนออกเสียงยาก...ถอดใจซะเถอะ!!"

 

สำหรับความเชื่อข้อนี้...คนไทยหลายๆคนที่เคยเรียนภาษาจีนคงอยากตะโกนสุดเสียงว่า "ไม่จริงงง" เพราะคนไทยมีข้อได้เปรียบในการเรียนภาษาจีนมากกว่าคนอีกหลายๆประเทศด้วยความที่เรามี "วรรณยุกต์"

ในภาษาจีนนั้นมี "พินอิน" (pinyin) ที่นักเรียนทุกคนหรือแม้แต่ชาวจีนเองต้องเรียนเพื่อให้ออกเสียงถูกต้องตามมาตรฐาน พินอินประกอบไปด้วยตัวอักษรโรมัน (ตัว A-Z ที่มีการออกเสียงแบบจีนเอง ไม่เหมือนภาษาอังกฤษ) และเสียงวรรณยุกต์ที่เรียกว่า 声调ซึ่งมี 4 เสียงที่ใช้สัญลักษณ์ ¯ ˊ ˇ ˋ และมีเสียงเบาที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์อีก 1 เสียง ใกล้เคียงกับเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยที่แบ่งออกเป็น 5 เสียง ทำให้คนไทยได้เปรียบในการเรียนภาษาจีนอย่างมาก ต่างจากคนชาติอื่นๆที่ต้องปวดหัวเรื่องโทนเสียงเพราะไม่คุ้นเคยกับหลักวรรณยุกต์มาก่อน

ตัวอย่างพินอิน

พินอินของคำว่า 爸爸 ที่แปลว่า พ่อ คือ bàba 

- เสียงหนึ่ง bā ปา

- เสียงสอง bá ป๋า

- เสียงสาม bǎ ป่า

- เสียงสี่ bà ป้า

- เสียงเบา ba ปะ (ออกเสียงเบาๆสั้นๆเพียงครึ่งเสียง)

ดังนั้น bàba จึงออกเสียงว่า "ป้าปะ"

ข้อควรระวังสำหรับผู้เรียนภาษาจีนมือใหม่ คือ อย่าใช้ทางลัดด้วยการถอดเสียงพินอินเป็นคาราโอเกะภาษาไทย เพราะนำมาเทียบกันไม่ได้เสมอไปและจะทำให้สับสนได้ ทางที่ดีที่สุดคือให้หัดอ่านจากพินอิน เพื่อให้ได้สำเนียงใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามากที่สุดค่ะ 

 


 

ติดตามสาระความรู้ดีๆเกี่ยวกับการเรียนภาษาจีนกลางได้ทาง

 

 

∞ ภาษาจีนเรียนสนุก จำง่าย มั่นใจที่เลิร์นนิ่งอีสท์ มีทั้งคอร์สเรียนที่สถาบันและคอร์สออนไลน์

มีหลักสูตรสำหรับเด็ก-ผู้ใหญ่ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน-ระดับสูง ทดลองเรียนฟรี ∞


Visitors: 230,573