นับจากวันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก ยิ่งร่างกายของเขาเติบโตขึ้นเท่าไหร่ สังคมและผู้คนที่เกี่ยวข้องก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

ทำอย่างไรลูกเราถึงจะเข้ากับเพื่อนๆที่โรงเรียนได้?

ทำอย่างไรลูกเราจะเป็นที่รักของคนรอบข้างเหมือนกับที่เป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่?

กุญแจสำคัญคือความฉลาดทางสังคม หรือ Social Intelligence ทักษะสำคัญที่ทำให้เขาเข้าใจผู้อื่นและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม

Social Intelligence สำหรับเด็กอายุ 1-3 ขวบ

เด็กวัย 1-3 ขวบ มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เพราะสามารถยืน เดิน หยิบจับสิ่งของได้ดีขึ้น เด็กจึงมักอยากทำอะไรด้วยตัวเองและมักโกรธเมื่อพ่อแม่ตอบสนองไม่ได้ดั่งใจ พ่อแม่สามารถฝึกให้เขารู้จักจัดการกับอารมณ์ตัวเองด้วย 3 ขั้นตอนง่ายๆดังนี้

1. สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ต่างๆ
ด้วยพัฒนาการทางภาษาที่ไม่สมบูรณ์ เด็กวัย 1-3 ขวบจึงยังบอกความต้องการได้ไม่ชัดเจน พ่อแม่จึงควรสอนให้ลูกรู้ว่าตอนนี้เขารู้สึกอย่างไร เช่น บอกเขาว่า แม่รู้ว่าหนูกำลังเจ็บ แม่รู้ว่าหนูกำลังเสียใจ เพื่อให้เด็กเข้าใจความรู้สึกตัวเอง และรู้จักคำเรียกอารมณ์แบบต่างๆ

 

2. สอนให้ลูกเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น
พ่อแม่สามารถสอนให้เด็กเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น ด้วยการเปรียบเทียบกับอารมณ์ที่เขาเคยรู้สึก เช่น เมื่อเห็นพี่กำลังร้องไห้อาจบอกว่า พี่กำลังเสียใจเหมือนตอนที่ลูกร้องไห้ไงคะเด็กจะค่อยๆซึมซับอารมณ์ต่างๆจนเข้าใจอารมณ์ผู้อื่นได้ในที่สุดค่ะ 

 

3. สอนลูกว่าควรปฏิบัติกับผู้อื่นอย่างไร
พ่อแม่สามารถสอนเด็กให้รู้จักวิธีปฏิบัติตัวต่อผู้อื่นผ่านเรื่องราวทั่วๆไป โดยอาจใส่อารมณ์ความรู้สึกลงไปเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น สอนให้ลูกแบ่งของเล่นให้เพื่อนโดยบอกว่า  เพื่อนกำลังเสียใจที่ไม่มีของเล่น ถ้าลูกไม่มีของเล่น ลูกก็จะเสียใจเหมือนกัน เราควรแบ่งของเล่นให้เพื่อนด้วยนะคะ

 

เมื่อเด็กเข้าใจอารมณ์คนอื่นและรู้จักวิธีแสดงออกที่ดี ก็จะรู้จักปรับตัวเข้าหาคนอื่น เป็นที่รักของคนรอบข้างได้ไม่ยาก

Social Intelligence สำหรับเด็กอายุ 3-6 ขวบ

เด็กวัย 3-6 ขวบ เป็นวัยที่เข้าสู่รั้วโรงเรียนและมีสังคมกว้างขึ้น พ่อแม่สามารถสอนให้เขาเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกผู้อื่น พร้อมกับเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกตัวเองผ่าน 4 ขั้นตอนดังนี้

1. สอนลูกแก้ปัญหาอย่างประนีประนอม
เวลาเด็กๆเล่นกันความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ พ่อแม่ควรสอนให้ลูกแก้ปัญหาอย่างประนีประนอม ไม่ใช้ความรุนแรง เด็กจะค่อยๆซึมซับและเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมค่ะ

 

2. ปลูกฝังวินัยผ่านกิจวัตรประจำวัน
การปลูกฝังวินัยผ่านกิจวัตรประจำวันเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและเป็นธรรมชาติที่สุด เช่น สอนมารยาทบนโต๊ะอาหารขณะกินข้าว หรือตอนเด็กๆกำลังดูการ์ตูน พ่อแม่อาจชื่นชมตัวการ์ตูนที่มีพฤติกรรมเหมาะสมให้เขาได้ยิน เขาจะค่อยๆเรียนรู้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ยอมรับ ทำแล้วจะได้รับการยอมรับจากรอบข้างค่ะ

3. สอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน
สอนลูกให้รู้จักแบ่งปันและเสียสละเริ่มได้ง่ายๆจากเรื่องใกล้ตัว เช่น แบ่งหน้าที่ให้ลูกช่วยทำงานบ้านง่ายๆอย่างให้อาหารสุนัข สิ่งเล็กๆเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ รู้จักเสียสละและทำประโยชน์ให้สังคมค่ะ

 

4. หาโอกาสให้ลูกเล่นเป็นกลุ่มบ้าง
ในอนาคตเด็กๆจะได้พบเจอกับผู้ใหญ่และเพื่อนหลากหลายวัย พ่อแม่จึงควรเปิดโอกาสให้เขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนต่างวัย เช่น เพื่อนบ้านหรือลูกพี่ลูกน้อง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น  รู้จักการช่วยเหลือแบ่งปัน รู้วิธีจัดการกับความขัดแย้ง ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เขาต้องพบเจอในสังคมจริง

(เรียบเรียงจากบทความ “Social Intelligence ทักษะสำคัญของชีวิตจากนิตยสารรักลูก ขอขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ)

Visitors: 230,389