เมื่อหน่วยงานของออสเตรเลียที่ดูแลความปลอดภัยของเด็กในโลกออนไลน์ ได้เปิดเผยสถิติที่น่ากลัวของ “พวกคลั่งเด็ก” มากกว่า 50% ถูกดึงมาจากบรรดา social media วันนี้ Learning East จึงรวบรวม 6 ข้อต้องห้ามไว้เตือนใจคุณพ่อคุณแม่ก่อนโพสต์รูปหรือข้อมูล

ในโลกยุคดิจิตอลแบบนี้ สิ่งแรกที่หลายคนทำหลังตื่นนอนคงหนีไม่พ้นคว้าโทรศัพท์มาเช็คความเคลื่อนไหวใน Facebook, Instagram, Twitter, Line ฯลฯ

ถึงจะอยู่กันคนละซีกโลก แต่พลังของ social media ทำให้เราสามารถบอกให้เพื่อนๆรู้ว่าวันนี้เรา check in กินข้าวร้านไหน, กำลังดูหนังเรื่องอะไร, กำลัง in a relationship กับใคร, สนใจข่าวอะไร หรือรู้สึกยังไงบ้าง 

ยิ่งพ่อแม่ที่มีลูกวัยกำลังน่ารัก คงอดไม่ได้ที่จะแชร์ความน่ารักและพัฒนาการของลูกแบบรัวๆโดยไม่ทันนึกถึงผลลัพธ์ที่ตามมา

เมื่อปี 2558 หน่วยงานของออสเตรเลียที่ดูแลความปลอดภัยของเด็กในโลกออนไลน์โดยเฉพาะได้เปิดเผยสถิติที่น่ากลัวว่าภาพที่อยู่ในเว็บไซต์ของ พวกคลั่งเด็กมากกว่า 50% ถูกดึงมาจากบรรดา social media และบล็อกของผู้ปกครองนั่นเอง ฟังดูแล้วน่าขนลุกมั้ยคะ?

วันนี้ Learning East จึงรวบรวมกฎเหล็ก 6 ข้อไว้เตือนใจคุณพ่อคุณแม่ก่อนโพสต์ภาพหรือข้อมูลของลูกๆลงใน social media มาให้อ่านกันค่ะ 

กฎข้อ1 ห้ามโพสต์รูปเปลือยของลูก

เนื้อตัวจ้ำม่ำของเด็กๆอาจดูน่ารักสำหรับคนทั่วไป แต่เป็นอาหารตาชั้นดีสำหรับพวกวิตถารที่มีอารมณ์ทางเพศกับเด็กหรือ “Pedophile” ถึงจะดูน่าเหลือเชื่อ แต่ข่าวการจับกุมคนที่มีภาพอนาจารเด็กในครอบครองตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีให้เห็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นถือคติอย่าโพสต์อย่าแชร์ไว้ดีที่สุด

กฎข้อ 2 ห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว

บัตรนักเรียนลูก, ใบคะแนนเทอมล่าสุดที่มีชื่อ นามสกุล ชั้นเรียน และโรงเรียนติดหรา, ภาพลูกขี่จักรยานเล่นในหมู่บ้านพร้อมเปิด location เสร็จสรรพ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จำไว้เลยว่าห้าม!

ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด ชั้นเรียน โรงเรียน และที่อยู่ ถือเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ควรให้คนนอกรู้เด็ดขาด เพราะผู้ไม่หวังดีสามารถปะติดปะต่อข้อมูลเพื่อใช้เข้าถึงตัวเด็กเอาได้ง่ายๆ

ลองนึกภาพคนแปลกหน้าที่รู้รูปพรรณสัณฐานและข้อมูลของเด็กแบบละเอียดยิบมาถามหาน้องที่โรงเรียน โดยอ้างว่าผู้ปกครองติดธุระด่วนเลยให้รับกลับบ้านแทน และถ้าคุณครูไม่เอะใจโทรเช็คกับคุณล่ะ...จะเกิดอะไรขึ้น?

กฎข้อ 3 ห้ามเปิด location หรือโพสต์รูปแบบทันที

การถ่ายรูปเด็กขณะทำกิจกรรมในสถานที่นั้นๆ แล้วโพสต์ลง social media ชนิดนาทีต่อนาทีพร้อมเปิด location เป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก เพราะทำให้คนนอกรู้ทันทีว่าเวลานี้ลูกของคุณอยู่ที่ไหน แต่งตัวยังไง และกำลังทำอะไรอยู่ พ่อแม่อาจรอให้เด็กทำกิจกรรมเสร็จหรือเดินทางกลับถึงบ้านก่อนแล้วค่อยโพสต์ หรือเก็บรูปไว้ลงวันหลังแทนค่ะ

กฎข้อ 4 ห้ามโพสต์รูปที่อาจทำให้คนเข้าใจผิด

บางครั้งพ่อแม่อาจนึกครึ้มอกครึ้มใจให้ลูกถ่ายรูปตลกๆ เช่น ให้ทำท่ากำลังดื่มเบียร์ หรือจับลูกมานั่งหลังพวงมาลัยตอนรถติด แต่ในสังคมที่คนชอบเสพเรื่อง ดราม่า แบบทุกวันนี้ อาจมีคนเอารูปของคุณไปใช้แล้วแต่งเรื่องขึ้นมาเองด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ พอถึงตอนนั้นลูกของคุณก็โดนเข้าใจผิดไปเรียบร้อย แล้วคุณจะตามไปอธิบายกับคนทั้งโลกไม่ได้หรอกนะ

กฎข้อ 5 ห้ามเผยแพร่ฉายาหรือข้อมูลที่ทำให้ลูกอับอาย

ในโลกตะวันตกที่การกลั่นแกล้งในโรงเรียนรุนแรงถึงขั้นมีเด็กฆ่าตัวตาย เริ่มมีการรณรงค์ให้ผู้ปกครองฉุกคิดถึงอันตรายจากการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจทำให้เด็กๆอับอายกันแล้ว ในเมืองไทยเราการกลั่นแกล้งในโรงเรียนอาจยังไม่น่ากังวลเท่าไหร่ แต่ป้องกันไว้ก่อนดีกว่านะคะ

กฎข้อ 6 ห้ามโพสต์รูปที่ลูกอาจไม่อยากให้คนอื่นเห็นเมื่อโตขึ้น

ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับลูกที่คุณโพสต์ไป ถือเป็นการสร้าง ตัวตน” (identity) ของเค้าในโลกออนไลน์ ไม่ว่าโตขึ้นเค้าจะชอบใจหรือไม่ก็ตาม (อยากรู้ว่าตัวตนในโลกออนไลน์ของคุณเป็นยังไง ลอง google ชื่อหรือ username ของคุณดูสิคะ)

ดังนั้น ถือคติเอาใจเขามาใส่ใจเรา ภาพสมัยเด็กแบบไหนที่เราไม่อยากให้คนอื่นเห็น เช่น รูปนั่งกระโถน รูปนอนโป๊ในอ่างอาบน้ำ ฯลฯ ก็เก็บไว้ดูกันเองในครอบครัวดีกว่าค่ะ

 

ทั้งหมดนี้ใช่ว่าอยากให้พ่อแม่กลัว social media จนเลิกโพสต์รูปลูกไปเลย เพียงแค่อยากให้เพิ่มความระมัดระวังสักนิด เพราะถ้าหากเกิดอะไรขึ้นแล้ว โลกทั้งใบจะได้รับรู้และเมื่อถึงตอนนั้นเราจะเรียกร้องอะไรกลับคืนมาไม่ได้เลย  

Visitors: 234,981