ลูกเราเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่?

 

ทุกวันนี้คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ตื่นตัวและให้ความสนใจกับ โรคสมาธิสั้นหรือ ADHD กันมากขึ้น ที่ Learning East เอง เรามีผู้ปกครองที่พาน้องๆมาเรียนภาษาจีนและเล่าสู่กันฟังถึงโรคนี้ จนเริ่มรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เราเลยถือโอกาสรวบรวมข้อมูลโรคสมาธิสั้นแบบเข้าใจง๊ายง่ายมาฝากค่ะ

 

ก่อนอื่นท่านรู้หรือไม่

- นร.ไทย 40-50 คน มีเด็กสมาธิสั้นถึง 2 คน

- เด็กประถมในกรุงเทพฯ 5% เป็นโรคสมาธิสั้น

- เด็กผู้ชายเป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่าเด็กผู้หญิง

- 60-85% ของเด็กสมาธิสั้นมีอาการจนถึงวัยรุ่น

- 40-50% ของเด็กสมาธิสั้นมีอาการจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

- สาเหตุหลักของโรคสมาธิสั้นมาจาก "พันธุกรรม"

- "การสูบบุหรี่" ตอนตั้งครรภ์มีส่วนให้ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น

- "การดูทีวีหรือเล่นไอแพด" ไม่ได้ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น แต่มีส่วนให้

อาการรุนแรงขึ้น

 

โรคสมาธิสั้นคืออะไร?

โรคสมาธิสั้น หรือ Attention-Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) เป็นภาวะบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมอง ที่มีอาการหลักเป็นความผิดปกติทางพฤติกรรม 3 ด้าน

1. อาการขาดสมาธิต่อเนื่อง (Inattention)

2. อาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)

3. อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)

จะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่อายุเท่าไหร่?

เด็กที่มีอาการอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) หรือหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) จะสังเกตได้ตั้งแต่ช่วงอนุบาล คือ 4-6 ปี ส่วนเด็กที่มีอาการขาดสมาธิ (Inattention) จะสังเกตได้ยากเพราะไม่มีพฤติกรรมก่อกวน แต่จะเริ่มเห็นชัดเมื่อเรียนในชั้นสูงขึ้นและมีปัญหาเรื่องผลการเรียน

โตแล้วจะหายเองได้ไหม?

โรคสมาธิสั้นสามารถรักษาให้อาการดีขึ้นหรือหายขาดได้ แต่เด็ก 60-85% จะยังมีอาการจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและ 40-50% จะมีอาการต่อเนื่องไปถึงวัยผู้ใหญ่

ถ้าสงสัยว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้นควรทำอย่างไร?

ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง อาจเริ่มจากพาไปหาแพทย์ทั่วไป ถ้าเด็กมีอาการรุนแรงหรือมีโรคที่พบร่วมที่รุนแรง หมออาจแนะนำให้ส่งต่อเพื่อปรึกษากุมารแพทย์หรือจิตแพทย์ให้ดูแลต่อไป ยังมีอาการจนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและ 40-50% จะมีอาการต่อเนื่องไปถึงวัยผู้ใหญ่

แล้วเราจะมีวิธีสังเกตลูกได้อย่างไร?

1. อาการขาดสมาธิต่อเนื่อง (Inattention)

- วอกแวกตามสิ่งเร้าได้ง่าย ทำอะไรได้ไม่นาน

- บางครั้งดูเหม่อลอย เบื่อง่าย

- ทำของหายบ่อย หลงลืมกิจวัตรที่ต้องทำเป็นประจำ

- ดูเหมือนไม่ฟังเวลามีคนพูดด้วย

- ขาดความละเอียดรอบคอบ

- ทำงานที่ต้องใช้ความพยายามไม่เสร็จ หรือทำไม่เรียบร้อย

- หลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความตั้งใจหรือความพยายาม

2. อาการไม่อยู่นิ่ง (Hyperactivity)

- ยุกยิก ไม่อยู่เฉย นั่งกับที่ไม่ได้นาน

- ชอบเดินไปมา หรือเดินออกจากห้องเรียน

- ชอบปีนป่าย ซุกซนมากกว่าเด็กปกติ

3. อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)

- ใจร้อน วู่วาม ขาดการยั้งคิด บางครั้งดูเหมือนก้าวร้าว

- อดทนรอคอยไม่ได้ รอให้ถึงคิวตัวเองไม่ได้

- ชอบพูดแทรก หรือขัดจังหวะคนอื่น 

- มักพูดโพล่งออกมาโดยไม่ฟังคำถามให้จบ

หากพบว่าลูกเป็นเด็กสมาธิสั้น พ่อแม่จะช่วยเหลือลูกน้อยได้อย่างไร?

เด็กสมาธิสั้นจะไม่สามารถจัดระเบียบหรือวางแผนสิ่งต่างๆที่เป็นระเบียบแบบแผนได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่อาจช่วยกำหนดกิจวัตรประจำวันให้เป็นแบบแผน แบ่งงานให้ทำทีละน้อย และคอยกำกับให้ลูกทำจนเสร็จ อย่าลืมว่าพ่อแม่ต้องบอกเขาล่วงหน้าในสิ่งที่ต้องการให้ทำ และพูดในขณะที่เด็กพร้อมที่จะฟัง รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องอดทนรอคอยและความมีระเบียบด้วย

ถ้าเด็กก่อกวนมากๆจะรับมืออย่างไรดี?

ควรใช้วิธีนุ่มนวลเพื่อหยุดพฤติกรรมหรือเบนความสนใจให้ทำกิจกรรมอื่นแทน ถ้าไม่ได้ผล ควรใช้ท่าทีที่เอาจริงและสงบจัดการ เช่น แยกให้เด็กอยู่มุมสงบตามลำพังชั่วคราว หรือลงโทษด้วยการลดเวลาดูโทรทัศน์เป็นต้นในทางกลับกัน ถ้ารู้สึกว่าวันนี้เด็กมีความประพฤติที่ดีก็ควรชื่นชมทันที และอาจให้แรงเสริมเพื่อให้เด็กเพิ่มพฤติกรรมที่พ่อแม่ต้องการ เช่น ให้ดาวสะสมคะแนนไว้แลกของรางวัลหรือสิทธิพิเศษต่างๆ

การรักษาด้วยยาช่วยได้จริงหรือ?

ในการรักษาโรคสมาธิสั้น แพทย์นิยมใช้ยา Methylphenidate ซึ่งออกฤทธิ์ที่สมองทำให้เด็กควบคุมตัวเองได้ดีขึ้นและมีสมาธิจดจ่อนานขึ้น มีการศึกษาพบว่าการใช้ยาตามแนวทางที่ถูกต้อง จะได้ผลดีกว่าการรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว

รู้แบบนี้แล้ว การรับมือกับเด็กสมาธิสั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากนะคะ เพียงแต่เราต้องเข้าใจและให้เวลากับเขามากขึ้น

 ----------------------------------------------------------------------------------------------------------

พบบทความและสาระดีๆเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษาจีนและการสังเกตพฤติกรรมลูกน้อย ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ 7 โมงเช้าเป็นต้นไปที่

www.facebook.com/learningeast

Visitors: 233,762